ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ใครที่อยู่ในแวดวงของธุรกิจ และดิจิทัลย่อมต้องเคยได้ยินคำว่า “Disruption” อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการมาของยุค Disruption นั้นเป็นเหมือนกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสิ่งรอบตัวเราอย่างชัดเจน จนมีหลายธุรกิจได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวลง ทำให้คนมองว่ายุค Disruption นั้นนำมาแต่ผลเสีย
แต่ที่จริงแล้ว ยุค Disruption มีแค่ผลเสียแน่หรอ? แล้วความหมายจริง ๆ ของ ยุค Disruption นั้นมีความหมายอย่างไรกันแน่ แต่ละธุรกิจได้รับกระทบ และควรปรับตัวอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันได้เลย!
ทำความเข้าใจ ยุค Disruption คืออะไร?
Disruption คือ ยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งต่าง ๆ โดยปัจจัยหลักที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ “เทคโนโลยี” ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้า โดยเฉพาะเมื่อโลกเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีมาทดแทน จนหลายคนอาจเรียกว่าเป็น “Digital Disruption หรือ Disruptive Technology” แล้วยุค Disruption นั้นกระทบกับอะไรบ้าง?
1. การเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้โลกไร้พรมแดน (Globalization)
หลังจากที่โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี เช่น
– การเปลี่ยนแปลงความต้องการของพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภค
จำได้มั้ย? ว่าแต่ก่อนเวลาเราซื้อสินค้า หรือใช้บริการส่วนใหญ่เราก็มักไปซื้อกันที่หน้าร้านค้า หรือ Shop แต่ปัจจุบันเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ทุกคนต้องหันมาใช้การซื้อขายออนไลน์กัน เช่น จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์, แอปพลิเคชัน, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม
– การเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสาร
“การสื่อสาร” เป็นสิ่งที่เราต้องใช้กันอยู่ตลอด ตั้งแต่การที่เราตื่นเช้าขึ้นมาเช็คโซเชียลต่าง ๆ เช็คข่าว พิมแชตคุยกับเพื่อน ไปจนถึงเรานั่งเรียน หรือทำงานเราก็ต้องใช้การสื่อสารเข้ามาร่วมด้วยทั้งนั้น ซึ่งการสื่อสารเหล่านี้ล้วนมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับแต่ก่อนที่การสื่อสารยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามา เราก็ต้องคอยส่งจดหมาย หรือใช้โทรสารคุยกัน ฯลฯ
2. การใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการใช้คน (Digitalization)
ตอนนี้เทคโนโลยีเริ่มนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ถ้าใครยังไม่เห็นภาพ เราจะขอยกตัวอย่างที่ทุกคนต้องเคยเห็นกันว่า ร้านอาหารบางร้าน เริ่มมีการนำหุ่นยนต์มาช่วยเสิร์ฟแทนพนักงานบ้างแล้ว หรือในอุตสาหกรรมนั้นมีการใช้เทคโนโลยีมาใช้ร่วมด้วย เช่น การใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อลดการจ้างแรงงานคน, การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent; AI) มาใช้ในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ฯลฯ
3. การตัดคนกลางออกจากระบบ (Disintermediation)
ระบบคนกลางนั้นเราคงเห็นได้ในหลากหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจชิปปิ้งที่รับสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย, พ่อค้าคนกลาง เป็นต้น แต่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและลูกค้าโดยตรง เช่น แพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันศูนย์กลางที่พ่อค้าแม่ค้า สามารถตั้งร้านเข้ามาให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง หรือโซเชียลมีเดียที่เราตั้งโพสต์สินค้า และบริการให้ลูกค้าสามารถเข้ามาซื้อได้ด้วยตนเอง, จองหรือเช่าสถานที่ เป็นต้น
จากปัจจัยเหล่านี้ หลายคนคงเริ่มตั้งข้อสงสัยแล้วว่า ตอนนี้เทคโนโลยีที่เข้ามาในยุคนี้สร้างผลกระทบหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค, การบริหาร และรูปแบบการทำงาน รวมไปถึงเรื่องแรงงาน ที่หลายองค์กรอาจต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ก็มีบางธุรกิจที่ถูก Disruption จนยากที่จะฟื้นตัวเองแล้วต้องปิดตัวลงไปในที่สุด จะมีธุรกิจอะไรบ้างนั้นก็ไปดูด้วยกันเลย!
ธุรกิจอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบในยุค Disruption ?
สองตำนานที่ถูกลืม – ผู้บุกเบิกโทรศัพท์มือถือรุ่นแรก ๆ : BlackBerry และ Nokia
ใครที่เคยอยู่ในยุคที่มีโทรศัพท์ตู้จะเข้าใจดี ว่า แต่ก่อนเมื่อเริ่มมีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว ก็ต้องพูดถึงสองยี่ห้อ สองคู่หูกับ “Nokia และ Blackberry หรือเรียกสั้น ๆ ว่า BB” ที่ใครมี คนอื่นก็ต้องร้องว้าว ซึ่งทั้งสองแบรนด์นี้เป็นผู้นำวงการมือถือเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นช่วงที่คนใช้เพจเจอร์ในการติดต่อ ถูกพัฒนาเปลี่ยนผ่านมาติดต่อกันในโทรศัพท์มือถือแทน โดยมือถือของ โนเกีย และBB นั้นมีการพัฒนาให้มีแป้นคีย์บอร์ดในตัว ทำให้สะดวกต่อการติดต่อ การพิมพ์งาน และอีเมลต่าง ๆ และกลายเป็นแบรนด์มือถือที่ดังติดตลาดไปโดยปริยาย
ถึงแม้โทรศัพท์สองรุ่นนี้จะโด่งดังจนถือครองตลาดมือถือเกินครึ่ง แต่! หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอ เมื่อสองแบรนด์ใหญ่ต้องเจอฝันร้ายจาก แบรนด์ “Iphone” ผู้คิดโทรศัพท์สุดแหวกแนว ด้วยคำถามที่ว่า ทำไมเราต้องมีปุ่มมากมายในการพิมพ์? แบรนด์ไอโฟน จึงพัฒนาโทรศัพท์ที่สามารถสัมผัสหน้าจอได้โดยตรง (Touch Screen) จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ สมาร์ตโฟน เลยก็ว่าได้ ด้วยความสะดวกสบายในการพิมพ์ที่ง่ายกว่า หน้าจอที่มีขนาดใหญ่กว่าเพราะไม่ต้องสร้างแป้นคีย์บอร์ด
อีกทั้งยังมีระบบปฏิบัติการที่ฉีกกฎความเป็นแค่โทรศัพท์มือถือ แต่มีฟังก์ชันในการใช้งานที่คล้ายกับ การใช้งานคอมพิวเตอร์ ทำให้ไอโฟนเป็นเหมือนโทรศัพท์ที่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์พฤติกรรมการใช้งาน และกลายเป็นผู้นำคนใหม่ ด้านธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
หลังจากที่ไอโฟนได้เปิดตัวมาสักพัก ก็มีสมาร์ตโฟนผู้เข้าแข่งรายใหม่อย่าง ‘แอนดรอยด์’ ที่เป็นระบบปฏิบัติการในมือถือ ถูกพัฒนาโดยกูเกิล ต่างจากไอโฟน (ระบบปฏิบัติการ IOS) เข้าร่วมในธุรกิจสมาร์ตโฟน ทำให้แบรนด์ BlackBerry และNokia ถูกคู่แข่งเข้ามาตีเสมอ ถึงแม้ทั้งสองแบรนด์จะเปิดตัว โทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ แต่ฝั่งคู่แข่งก็พัฒนาฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่มีความทันสมัย และก้าวหน้ากว่า ทำให้ทั้งสองแบรนด์ที่เคยสองตำนาน ต้องถอนตัวออกจากวงการโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
ESG Entertainment ยักษ์ใหญ่ที่ต้องล้มของวงการซีดีไทย
เคยกันมั้ย? แต่ก่อนเวลาเราจะดูหนัง ฟังเพลงก็ต้องคอยไปยืมเพื่อน หรือเดินไปที่ร้านเช่าซีดีเสมอ ซึ่งถ้าพูดถึงยักษ์ใหญ่ธุรกิจด้านซีดีหนัง ทั้ง VCD, DVD และสื่อบันเทิงรูปแบบอื่น ๆ ของไทย ก็ต้องพูดถึงบริษัท EVS Entertainment เลยก็ว่าได้ที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะใคร ๆ ก็ต่างต้องดูสื่อบันเทิงผ่านจากแผ่นซีดี หรือดีวีดีกันทั้งนั้น
แต่! เมื่อเทคโนโลยี “สตรีมมิ่ง หรือ Video Streaming” เข้ามาก็เหมือนเป็นฝันร้ายของวงการแผ่นหนัง เพราะช่วยให้ชีวิตคนดูหนังสบายมากยิ่งขึ้น เพียงแค่เราสมัครช่องทางเดียวก็สามารถดูหนังได้ทุกเรื่องตามที่มีให้บริการ เราจะสามารถดูที่ไหน เมื่อไหร่ กับใครก็ได้ทั้งนั้น ต่างจากการดูผ่านแผ่นซีดีที่เราต้องซื้อแผ่นหนังเรื่องนั้น ๆ มาเปิดดูพร้อมเครื่องเล่น ทำให้คนหันไปใช้บริการแบบ Video Steaming กันมากขึ้นจนเป็นการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ ทำให้ธุรกิจด้านซีดีนั้นถูก Disruption อย่างหนัก รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้บริษัท EVS Entertainment ต้องประกาศปิดตัวลง และหันไปทำธุรกิจด้านเครื่องเขียนแทน
สื่อสิ่งพิมพ์เหมือนระเบิดเวลา? เมื่อสื่อเก่าต้องเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับดิจิทัล
Ref: Techsauce
“ทุกวันนี้จะมีสักกี่คนที่ไม่เคยอ่านหนังสือแบบออนไลน์กัน?” ยิ่งเข้าเป็นในยุคที่ดิจิทัลอยู่กับเราทุกหนแห่ง แค่เราเช็คข่าวออนไลน์แทนการอ่านหนังสือพิมพ์, เรียนออนไลน์ก็เรียนบน Laptop โหลดไฟล์เรียนออนไลน์มาเขียน หรือชอบอ่านหนังสือ E-book แบบชิล ๆ ไม่ต้องพกหนังสือเป็นเล่ม ก็ถือว่าเราอ่านหนังสือในรูปแบบออนไลน์แล้ว
ซึ่งจากงานวิจัยยังพบว่า พฤติกรรมของคนนั้นนิยมอ่านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นจากเดิมสูงถึง 54.9% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2562) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่! ก็ยังมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ‘คนไทยยังนิยมอ่านหนังสือรูปแบบเล่มสูงถึง 88%!’ จากแต่ก่อนที่อ่านหนังสือในรูปแบบ 96.1% จึงสรุปได้ว่า อัตราการลดลงของการอ่านหนังสือเล่มนั้นมีไม่มากนัก
แล้วทำไมสื่อด้านสิ่งพิมพ์เก่า ๆ ถึงหันมาทำสื่อด้านดิจิทัลล่ะ?
เนื่องจากพฤติกรรมการอ่านของคนไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ และสภาพแวดล้อม อีกทั้งรสนิยม ความชอบในการอ่านของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบอ่านแบบออนไลน์ ส่วนบางคนอาจจะชอบอ่านหนังสือแบบเล่ม จนกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภค 2 Segment ของตลาดคนรักการอ่านเลยก็ว่าได้ ทำให้หลายธุรกิจหันมาส่งตัวแทนลงแข่งในตลาดสื่อการอ่านดิจิทัล เช่น Feed (สื่อใหม่ของมติชน), NewsClear (สื่อใหม่ของโพสต์ทูเดย์), The Matter (สื่อใหม่ของบรรลือสาส์น), BrandThink (สื่อใหม่ของแบรนด์เอจ), The Momentum (สื่อใหม่ของอะเดย์) เป็นต้น
จากหน้าร้านสู่ออนไลน์ เมื่อการขายออนไลน์กำลังมาแรง
การช็อปปิ้ง ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดของใครหลาย ๆ คน เช่น การเดินห้างสรรพสินค้า, เดินเที่ยวตลาด หรือเทศกาลงานต่าง ๆ แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เราต้องลดการออกมาเที่ยวข้างนอก หรือการเลี่ยงไปสถานที่แออัด รวมถึงเราเจอการล็อกดาวน์อยู่หลายครั้ง ทำให้หลายคนต้องหันมาซื้อของออนไลน์ แทนการไปซื้อสินค้าหน้าร้าน จนกลายเป็นพฤติกรรมการซื้อของรูปแบบใหม่ในยุค New Normal ที่คนเริ่มหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าการซื้อหน้าร้าน เนื่องจากสะดวก ราคาประหยัด ฯลฯ มากกว่าการซื้อสินค้าที่ร้าน ทำให้หลายธุรกิจจึงเริ่มมีบริการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ธุรกิจที่เคยเป็นผู้นำวงการใช่ว่าจะสามารถคงอยู่และยิ่งใหญ่ได้เหมือนเดิมเสมอแต่ เพราะเมื่อถูกดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลง ก็สามารถถูกกลืนหายไปในตลาดได้เช่นกัน จนหลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยแล้วว่า ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ดูเหมือนจะให้ผลเสียมากกว่าผลดีรึเปล่า? เราจะมาเล่าให้ฟังกันว่าตกลงแล้วมันดี หรือแย่กันแน่ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปศึกษาพร้อมกับเราได้เลย
การเกิด Disruption เป็นผลดี หรือทำให้แย่ลงกันแน่?
ถึงแม้เราจะได้เห็นว่า มีหลายธุรกิจถูกกระแสของดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงจนหายไปในตลาด จนทำให้เราเข้าใจว่าการเข้าสู่ยุค Digital Disruption นั้นจะไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ แต่การที่มี Digital เข้ามานั้นทำให้ไลฟ์สไตล์แบบเดิม ๆ ของเราเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเน้นความเร็ว เพื่อให้ทันเหตุการณ์ และเทคโนโลยียังช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้นส่งผลให้บางกลุ่มอาจปรับตัวได้ไม่ทัน รวมถึงบางธุรกิจที่ต้องล้มเลิกไป
ซึ่งในยุคที่ทุกอย่างดูเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนคงต้องเตรียมปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะงั้นเราจะมาแนะนำทุกคนกันว่าเราควรจะปรับตัวเองอย่างไร ทั้งตัวเราเอง และธุรกิจต่าง ๆ โดยแบ่งแนวทางได้ดังนี้
แนวทางการปรับตัวเมื่อเข้าสู่ยุค Disruption
– วิเคราะห์ ติดตาม และคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ
ถึงแม้การประเมินสถานการณ์ในอนาคตอาจทำได้ยาก เพราะทุกวันนี้บางสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนเกินความคาดหมายของเราไป รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เราไม่เคยคาดคิดกัน จนส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ และวิถีชีวิตของเรา แต่เทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาในปัจจุบัน เราอาจมองแนวโน้มตามเทรนด์โลกและการตลาดได้ เช่น การเข้ามาของ Metaverse, Cryptocurrency, ระบบ AI และ Automation, เทคโนโลยี ฯลฯ ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรอีกบ้าง ก็สามารถเข้าไปตามอ่านต่อได้ที่ ส่อง Digital Transformation trends ที่ใช้ในมาร์เก็ตติ้งในปี 2022
– เสริมทักษะบุคลากร และพัฒนาแผนธุรกิจ
เราคงเห็นได้ว่า บางธุรกิจนั้นเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการใช้แรงงาน ยิ่งมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเข้ามา ยิ่งทำให้เราเห็นได้ว่า การใช้แรงงานของคนนั้นมีข้อจำกัดที่มากกว่า เพราะต้องลดการติดต่อ และการทำงานพบปะกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้บทบาทของการใช้เทคโนโลยี และหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนมากขึ้น แล้วมีสายงานไหนบ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เราขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
1. กลุ่มที่ใช้แรงงาน – กลุ่มนี้จะมีการใช้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรเข้ามาทดแทนเป็นส่วนใหญ่ เช่น แรงงาน, กรรมกร เป็นต้น
2. กลุ่มผู้พัฒนา และทำงานร่วมกับ AI – กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เน้นการวิเคราะห์ และใช้ข้อมูล มักเป็นกลุ่มที่สร้าง AI และสามารถควบคุมพร้อมประยุกต์ใช้ AI ได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
3. กลุ่มที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ – มักเป็นกลุ่มสายงานที่ใช้ทักษะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์, ครีเอทีฟ, งานศิลป์ต่าง ๆ
ทำให้ตัวเราต้องสร้างเสริมทักษะต่าง ๆ ที่เราสามารถทำได้มากกว่าการใช้ AI เช่น การเพิ่มเติมทักษะใหม่ ๆ อย่าง ทักษะ Hard Skill และทักษะ Soft Skill ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น, ทักษะการโน้มน้าวและต่อรอง, การมีความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวและการบริหารเวลา, การเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเราจะสามารถนำมาประยุกต์ทักษะการทำงานของเราร่วมกับการใช้ AI ได้ เหมือนที่ รศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มองการทำงานของคนร่วมกับหุ่นยนต์ไว้ว่า
“ในอดีต เทคโนโลยีถูกเอามาใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของคน แต่ปัจจุบันและในอนาคต คนจะถูกนำมาใช้ เพื่อสนับสนุนให้เทคโนโลยีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด มันจะกลับกัน”
– มองหาบริการ และตลาดใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค
แต่ก่อนเราคงได้ยินว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” บอกเลยว่าคำพูดนั้นตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุค Digital Disruption แล้วก็ยิ่งทำให้สินค้า และบริการแต่ละอย่างมีคู่แข่งจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีมาซัพพอร์ตการทำงานอีก ทำให้เราต้องมองลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการทำธุรกิจ (Customer Centric) ดังนั้นเราจึงควรมองหาบริการ หรือตลาดใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
การเกิดยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายธุรกิจต้องวางแผน และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนเอง เพื่อให้สามารถคงอยู่ในตลาดต่อไปได้นั่นเอง
ถ้าอยากติดตามบทความดีๆ สามารถไปอ่านต่อได้ที่ link
Contact US
Line Official : https://lin.ee/Qtmh0wh
Instagram :
E – mail : masterplanmedia.th@gmail.com
Tel : 090 – 950 – 5544
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก Peerpower. Simplilearn. Techsauce. Thammasat University. Whatphone