Animal marketing: “ยาแก้ท้องอืดต้องกระต่ายบิน แป้งเย็นตรางูก็ต้องใช้ยามที่อากาศร้อน ๆ หรือจะเป็นเบียร์ที่มีสองคู่หูท้าชิงระหว่างเบียร์สิง กับช้าง” แล้วใครเคยสังเกต แล้วนึกสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมแบรนด์ไทยรุ่นเก๋า รุ่นเดอะถึงชอบใช้โลโก้แบรนด์เป็นรูปสัตว์ประจำตัวกัน
ซึ่งการนำสัตว์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง, ม้า, กระทิง, จระเข้, ตะขาบ หรือออกแบบสร้างสรรค์ เติมกิมมิคให้มีความชิค และเป็นเอกลักษณ์หน่อย อย่างลิงถือลูกท้อ กระต่ายบิน ไปจนถึงพระยานาค ที่มีทั้งกลิ่นอายความเป็นไทย และมีความหมายสัญลักษณ์ของสัตว์อยู่ ซึ่งการนำสัตว์มาเป็นโลโก้แบรนด์ก็มีทั้งประสบความสำเร็จดังพลุแตก จนใคร ๆ ก็จำได้ พูดถึงก็ต้องร้องอ๋อ หรือบางทีก็หายไปเงียบ ๆ จากตลาดเลยก็มี
รู้รึเปล่าว่า การใช้สัตว์มาเป็นโลโก้แบรนด์นั้นไม่ได้แค่เราคิดเองเออเองนะจ๊ะ แบบรู้สึกนี่แหละมันเวิร์ก ต้องเป๊ะปัง โจ๊ะจึ้งแน่นอน แต่ว่ามันเป็นกลยุทธ์การตลาดรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “Animal Marketing” ซึ่งการใช้กลยุทธ์รูปแบบนี้มี 4 เหตุผลที่ทำไมหลายแบรนด์เลือกใช้กัน ดังนี้
เหตุผลที่แบรนด์รุ่นเดอะนิยมใช้ “Animal Marketing” บนโลโก้
- สร้างภาพจำของแบรนด์ได้ง่ายขึ้น
เวลาเราหาสินค้า หรือบริการ ถ้าเรานึกถึงแบรนด์นั้นขึ้นมาก่อนนั้นแหละคือการสร้างภาพจำของแบรนด์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น พูดถึงแบรนด์บาบิกอน เราก็คงนึกถึงชาบูที่มีน้องก้อน มังกรตัวเขียวมาเป็นมาสคอตประจำแบรนด์ หรือถ้าเราย้อนนึกถึงแบรนด์รุ่นสมัยที่ดูทรงแล้วน่าจะอายุรุ่นราวคราวปู่ย่า อย่างยาอมตราตะขาบห้าตัว หรือกระต่ายบินที่ใครท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้องก็ต้องนึกถึงก่อนเป็นช้อยแรก ๆ
- สร้างความแตกต่าง และเอกลักษณ์ให้โดดเด่นจากแบรนด์อื่น
“ความแตกต่างทำให้เราโดดเด่นเสมอ” เหมือนที่บางคนเคยได้ยินธรรมดาโลกไม่จำ! แต่ก็ไม่ใช่ว่าให้เราทำหวือหวา ซูซ่าโดดเด็ดเปรี้ยวจี๊ดจนตำรวจเรียกนะ แค่เราลองหาจุดเด่นและสิ่งที่แตกต่างของตนเองต่อคู่แข่ง แล้วก็พัฒนา รวมถึงดึงจุดแข็งนั้นมาใช้ เพื่อให้เราเด่นขึ้นมาจากคู่แข่งในตลาดนั้นเอง หรือเรายังสามารถนำไปใช้สร้างสรรค์ในเชิงคอนเทนต์ได้ด้วยนะ
- สร้างภาพลักษณ์เข้าใจตรงกันง่ายขึ้น
พูดถึงเสือ สิงโตก็ต้องความน่าเกรงขาม, ม้าที่เป็นตัวแทนความสง่างาม, นกฮูกที่เป็นสัญลักษณ์ความเฉลียวฉลาด, ความโฉบเฉี่ยว รวดเร็วปราดเปรียวก็ต้องยกให้จาร์กัว หรือน่ารักใสๆ ก็ต้องแนวกระต่าย แมว เท็ดดี้ ซึ่งการที่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าสัตว์นี้คืออะไร หมายถึงอะไร นั้นก็เพราะเป็นความเข้าใจเชิงสัญลักษณ์ ภาพลักษณ์ รวมถึงภาพจำของแต่ละคน ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ มีการใช้สัตว์มาเล่นกับโลโก้ตัวเอง เพื่อสร้างอิมแพ็คของความเข้าใจแบรนด์ลูกค้ามากขึ้น เช่น ยาชูกำลัง ใช้สัญลักษณ์กระทิง สื่อให้เรารู้สึกถึงพลังที่เหลือล้น พร้อมชนพร้อมสู้กับทุกสิ่ง หรือ twitter ที่โลโก้รูปนก แทนเสียงคุยชิตแชทของคนในโซเชียล
- สร้างความผูกพัน และชักจูงด้านอารมณ์ของลูกค้า
เคยเห็นมั้ย ที่บางแบรนด์เอาโลโก้ของตัวเองมาสร้าง interact กับลูกค้า เช่น ถ้าเราไปดูเพจบาบิก้อน ก็จะมีน้องมังกรตัวเขียว หรือน้องก้อนของเราที่คอยเป็นแอดมินตอบเพจ พูดคุยกับเรา หรือแค่เรานึกถึงว่า รอดหน้าร้อนมาได้ เพราะได้ป๋องแป้งเย็นตรางูช่วยชีวิต ที่ประหยัดค่าไฟ แถมได้ความเย็นง่าย ๆ หรือเคยเจ็บคอก็มียาตะขาบห้าตัวที่แม่เคยให้เรากิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นตัวเชื่อม และสร้างความผูกพันให้กับลูกค้า รวมถึงช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ และการเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้นนั้นเอง
สัตว์ที่เอามาขึ้นในโลโก้แบรนด์นั้น มีทั้งแบบน่ารักใสๆ ปุ๊กปิ๊ก ไปจนถึงดีไซน์โลโก้สัตว์ให้โฉบเฉี่ยวกับภาพลักษณ์ที่แบรนด์ต้องการ โดยเราจะลองหยิบยกตัวอย่างแบรนด์รุ่นเก่าแก่ของไทยที่ใช้ Animal Marketing แต่ยังคงอยู่ในใจคนไทยจนได้ชื่อว่า “แบรนด์เก่าแต่เก๋า” อยู่เสมอ มาวิเคราะห์ให้ทุกคนดูกัน!
กระต่ายบิน (Flying Rabbit) – เปลี่ยนภาพจำนุ้งต่ายให้ชนะเต่า!
“ท้องเสีย ปวดท้อง แน่นท้อง มองหา ยาธาตุน้ำขาว ตรากระต่ายบิน” สโลแกนสุดเบสิกที่ต้องผ่านหูของใครหลายคน จนกลายเป็นภาพจำของคนไทยไปแล้ว ซึ่งการใช้โลโก้นี้เจ้าของบริษัทคุณ สุนันท์ เจียมจรรยา ก็ไม่ได้คิดมาเล่น หรือแค่เพราะชอบน้องต่าย แต่คิดด้วยการสร้างสตอรี่เล่าเรื่องจากนิทานเรื่อง กระต่ายกับเต่า ที่กระต่ายจะต้องเป็นฝ่ายแพ้เสมอ แต่คุณสุนันท์กลับมองในมุมกลับ จึงขอแก้เคล็ดโดยเพิ่มปีกไปให้ซะเลย รวมกับตนเองที่เกิดปีเถาะ เลยกลายเป็นที่มาของตราแบรนด์นี้นั้นเอง
ถึงแม้ยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบินจะอยู่มานานจนมีทายาทรุ่นที่ 3 เป็นคนดูแล แต่ยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบินก็ยังคงปรับเปลี่ยนให้ตัวเองอินเทรนด์ ไม่เก่าแก่ และเลือนหายไปในยุคก่อน แต่ยังมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์
แป้งเย็นตรางู (Snake Brand) – ศรบนหัวไม่ใช่ศรรัก
ขึ้นชื่อว่าไทย จะหน้าไหนก็ร้อนหมด จนกลายเป็นปีนึงมีฤดูร้อน ร้อนมาก กับอภิมหาที่สุดของความร้อน! ทำให้ต้องมีตัวช่วยแก้ร้อนอบอ้าวในไทย และแป้งเย็นตรางู ก็เป็นหนึ่งในไอเทมอันดับต้น ๆ ของคนไทยที่มีซิกเนเจอร์เป็นกระปุกเหล็ก สีเงินและตราเลเบลสีขาวดีไซน์วินเทจ ซึ่งแป้งเย็นตรางูที่มีการใช้ Animal Marketing ที่เราเห็นนั้นจะเป็นงูที่ถูกลูกศรปัก เนื่องจาก แป้งเย็นของแบรนด์นี้มีที่มาจาก “หมอล้วน ว่องสานิช” หมอชาวไทยเชื้อสายจีนผู้คิดค้นสูตรแป้งเย็นของโลก เพื่อใช้รักษาชาวต่างชาติที่ปรับตัวกับสภาพอากาศร้อนในไทยไม่ได้ จนเกิดอาการผดผื่นคันตามตัว ทำให้เกิดชื่อ ‘Pickly Heat’ ที่แปลว่าผดผื่นจากอากาศร้อน
แล้วรู้รึเปล่าว่า ตรางูที่มีลูกศรปักนั้นสื่อถึง งูที่เป็นสัญลักษณ์ของ โรคภัยไข้เจ็บ และลูกศรที่ปักบนหัวงูก็หมายถึง การรักษา หรือกำจัดโรคภัยไข้เจ็บนั้นเอง ส่วนกระป๋องแป้งที่ทำจากเหล็กเขาก็ไม่ได้คิดเล่นๆ เพื่อให้ดูชิคๆ บูมๆ หรือดูคลาสิคหรอกนะ แต่การใช้กระป๋องเหล็กนั้นช่วยเก็บความเย็นได้ ซึ่งสามารถเก็บความเย็นได้ถึง 5 ปีเลยนะ ซื้อมาวางจนลืมก็ไม่หายเย็นบอกเลย
ตะขาบห้าตัว (Takabb) – พิษแก้เคล็ด หรือแก้โรค?
เคยได้ยินสำนวนไทยที่ว่า ‘หนามยอกให้เอาหนามบ่ง’ กันมั้ย นั้นแหละ สมุนไพรจีนก็ใช้หลักการเดียวกัน เพราะคนจีนสมัยก่อนเชื่อว่า พิษจากสัตว์อันตรายนั้นมีสรรพคุณล้างพิษต่าง ๆ ออกไปได้ ทำให้แบรนด์นี้ที่ตอนแรกเกิดจากชาวจีน ‘จุ้ยไซ’ ผู้เป็นผู้ช่วยปรุงยาชาวจีน และมีความรู้เรื่องยาสมุนไพร เวลาว่างจะคอยคิดสูตรยา และอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเองจึงไปปรึกษาซินแส จนได้ออกมาเป็น “ตราตะขาบ” ส่วนที่ใช้เลข 5 นั้นก็เพราะเลขห้าถือเป็นเลขมงคลของชาวจีนนั้นเอง!
ช้าง สิงห์ ลีโอ – คู่หู คู่เบียร์ที่ตรึงใจคนไทยมานาน
เอาใจสายตี้ ถ้าพูดถึงเรื่องก๊ง แล้วมองหาเบียร์ก็คงไม่พ้นกับ 3 แบรนด์นี้อย่างแบรนด์ช้าง สิงห์ ลีโอ ที่เป็นแบรนด์เบียร์เจ้าใหญ่อันดับต้น ๆ ของไทย โดยแบรนด์โลโก้นั้นใช้สัตว์ประจำโลโก้แบรนด์อย่าง ช้าง เสือดาว สิงห์ หรือเราอาจจะเห็นมีการใช้ม้าในแบรนด์อื่น ๆ
อะ ลองมาคิดแบบขำ ๆ กับเราถ้ามีแบรนด์เบียร์ ใช้สัตว์ประจำโลโก้แบรนด์เป็นรูปผีเสื้อ กระต่าย หมาแมว มันก็คงฟังดูแปลกๆ เหม่งๆ ว่ามั้ยล่ะ? ภาพลักษณ์ที่สดใส นุ่มนิ่มคงขัดกับมู้ดอารมณ์การกินเบียร์เอามาก ๆ ต่างจากการใช้อิมเมจอย่างสัตว์ป่าที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันใช่มั้ยล่ะ ซึ่งสัตว์เหล่านี้มีอิมเมจ powerful, ความดุร้าย, เด็ดเดี่ยว และพละกำลัง ซึ่ง “คาแรกเตอร์นี้แหละจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงคุณค่า ภูมิใจและอินไปกับดื่มเบียร์ของแบรนด์นั้น ๆ” เช่น ถ้าพูดถึงเบียร์ช้าง เราก็คงรู้สึกถึงพละกำลัง หรือเบียร์สิงจะได้ฟีลความเด็ดเดี่ยว คลาสสิกและความเป็นชนชั้นสูง
ไม้ขีดไฟตราพระยานาค – พญานาคแสงสว่างหนึ่งเดียวในไทย
“พญานาค” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่โบราณ จนกลายเป็นความเชื่อ ตำนานและวัฒนธรรมสอดแทรกอยู่ร่วมกับคนไทย เช่นเราคงได้เห็นตามจิตรกรรมฝาผนัง วัดวาอาราม จนมีความเชื่อและเป็นประเด็นกันอยู่ตลอดว่า ตกลงพญานาคนั้นมีจริงรึเปล่า? บางครั้งเราก็คงได้ยินข่าวว่าพบเห็นรอยพญานาคลากพาดผ่านที่ถนน จนชาวบ้านนำไปดูเลขใบ้หวยกันต่อ ๆ ไป รวมถึงแบรนด์ไม้ขีดไฟตราพระยานาค ที่ได้หยิบยกสัตว์นี้มาใช้เป็นแบรนด์โลโก้เป็นของตัวเอง ซึ่งพญานาคนั้นมีความหมายสื่อถึงความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ และความมีวาสนาทำให้แบรนด์นี้เคยมียุคเฟื่องฟูในสมัยที่แต่ก่อนการจุดไฟนั้นเราใช้แค่ไม้ขีดไฟเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาเมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างไฟแช็กก็ทำให้คนหันมาใช้ไฟแช็กมากขึ้นเนื่องจากมีความสะดวก สบายและราคาแพงไม่มากนักเมื่อเทียบกับไฟแช็ก อุตสาหกรรมไม้ขีดไฟจึงค่อย ๆ เลือนหายไปทีละเจ้าเหลือเพียง “ไม้ขีดไฟตราพระยานาค” ที่เป็นเจ้าเดียวที่ยังอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยยอดขายที่ลดลงทุกปี จึงเป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ว่าธุรกิจของตนเองจะต้องแก้เกมยังไงต่อ? จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุค หรือจะพอแค่นี้ดี
จริง ๆ แล้วแบรนด์เก่าแก่ของไทยที่ใช้ Animal Marketing มาเป็นสัตว์ประจำโลโก้ก็มีอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์สบู่ตรานกแก้ว, แบรนด์เสื้อผ้าห่านคู่ หรือจะเป็นปูนซีเมนต์ตราช้าง ที่เป็นของเครือเดียวกับบริษัท SCG ฯลฯ
ซึ่งการใช้โลโก้แบรนด์เป็นสัตว์นั้น ไม่ได้มีในไทยเท่านั้น เพราะในต่างประเทศเราก็ต้องเคยเห็นอย่าง Lacoste แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังที่มีลายจระเข้ที่ทุกคนต้องคุ้นเคย! หรือยี่ห้อ Jaguar ที่ผลิตรถเรียบหรูจากสหรัฐอเมริกา ใครที่เริ่มสนใจอยากลองออกแบบโลโก้แบรนด์โดยใช้สัตว์ประจำโลโก้บ้าง เดี๋ยวในบทความหน้าเราจะมาเล่าให้ฟังว่าต้องทำยังไง แล้วแบรนด์โลโก้สัตว์สามารถออกแบบไปทาง mood & tone ทางไหนได้บ้าง ก็รอติดตามเราได้น้า
ถ้าอยากติดตามบทความดีๆ สามารถไปอ่านต่อได้ที่ link
Contact US
Line Official : https://lin.ee/Qtmh0wh
Instagram :
E – mail : masterplanmedia.th@gmail.com
Tel : 090 – 950 – 5544
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก BrandAge Online